การตรวจโควิดมีกี่แบบ? RT-PCR ต่างกับ Rapid Test อย่างไร?
86 Views

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีวี่แววของการหมดไป อีกทั้งสายพันธุ์ใหม่ อย่างสายพันธุ์เดลตา ผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่ระบาดได้ 5-8 คน อีกทั้งยังไม่ค่อยแสดงอาการใดๆ

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปลดล็อกให้ใช้ Rapid Antigen Test ชุดตรวจแบบเร่งด่วน ซึ่งมันแตกต่างกับการ swab แบบที่เคยทำอย่างไร มาศึกษาไปพร้อมกัน

RT-PCR หรือ Real Time Polymerase Chain Reaction หรือเรียกสั้นๆ ว่า Swab คือเก็บสารคัดหลั่งทางโพรงจมูกหรือลำคอ วิธีตรวจคือ การใช้คอตตอนบัดสำหรับทำการ swab สอดเข้าทางโพรงจมูกหรือลำคอ ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อเก็บสารคัดหลั่งมาตรวจหาเชื้อไวรัส (Nasopharyngeal swab PCR)

RT-PCR เป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ เนื่องจากมีความไว และมีความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง ผลตรวจมีความแม่นยำสูงกว่าวิธีอื่น ๆ วิธีการตรวจแบบ RT-PCR จึงเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งราคาค่าตรวจก็จะแตกต่างกันออกไป บางโรงพยาบาลของรัฐก็จะตรวจให้ฟรี กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

ข้อดีของการตรวจแบบ Real-time PCR หรือ RT-PCR นอกจากเป็นการตรวจเชื้อที่แม่นยำแล้ว ยังสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตายอีกด้วย แต่มีข้อจำกัดคือต้องส่งตรวจห้อง Lab ที่ได้มาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Department of Medical Sciences) ถึงจะเชื่อถือได้ ซึ่งสามารถนำผลตรวจไปใช้ยืนยันในการเดินทางต่างจังหวัด และต่างประเทศได้

ตรวจโควิด 1

ส่วน Rapid Test คือ ชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 30 นาที เร็วกว่าวิธีการตรวจแบบ RT-PCR แต่การตรวจแบบ Rapid Test เป็นแค่เพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผลลัพธ์จะยืนยันได้ ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น

ถึงแม้ว่าการตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำได้ แต่ก็สามารถใช้คัดกรองในเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดปัญหาความแออัดและการรอคิวนานจากการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

         ชุด Rapid Test แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Rapid Test ชนิดตรวจ Antigen (Rapid Antigen Test) กับชนิดตรวจ Antibody (Rapid Antibody Test) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้ (ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข)

  1. Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อ ดังนั้น จำเป็นจะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  2. Rapid Antibody Test คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วหรือท้องแขน ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 10 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจเจอภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการตรวจนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เพราะภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยดีแล้ว ก็สามารถตรวจพบได้
ตรวจโควิด 2

         อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจเองได้ แค่ชุด Rapid Antigen Test เท่านั้น (ทางภาครัฐจะเรียกว่าชุด Antigen Test Kit)

ที่มา: https://hdmall.co.th/c/procedure-covid-test
https://allwellhealthcare.com/rapid-test-covid-19/
https://mgronline.com/qol/detail/9640000069621

0 Comments

Submit a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *